Royal Khon Performance การแสดงโขน ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ”

image

เปิดฉากสุดตระการตา “การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ” ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ๗ พ.ย. – ๕ ธ.ค. ศกนี้

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทอดพระเนตร การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอนนาคบาศ” รอบปฐมทัศน์ ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดการแสดงขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดการแสดงโขนวิจิตรนาฏศิลป์ไทยขึ้นเป็นประจำทุกปี และเพื่อเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมของชาติ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย


ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดง โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ปี พ.ศ.๒๕๕๗ กล่าวว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์ “โขน” ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมตามแบบประเพณีโบราณ ที่ผ่านมามูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขน รามเกียรติ์ มาเป็นปีที่ ๗ แล้ว รวม ๕ ชุดด้วยกัน ได้แก่ ชุด “ศึกพรหมาศ” (พ.ศ.๒๕๕๐ และพ.ศ.๒๕๕๒), ชุด “นางลอย” (พ.ศ.๒๕๕๓), ชุด “ศึกมัยราพณ์” (พ.ศ.๒๕๕๔), ชุด “จองถนน” (พ.ศ.๒๕๕๕) และ ชุด “ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์” (พ.ศ.๒๕๕๖) จนประสบความสำเร็จและได้รับการเรียกร้องให้เพิ่มรอบสำหรับผู้ที่พลาดชมการแสดง โดยในปีนี้นับเป็นปีที่มีรอบการแสดงมากที่สุดถึง ๕๐ รอบ ซึ่งทุกครั้งที่มีการแสดงโขนจะมีแบบสอบถามให้ผู้ชมแสดงความคิดเห็นว่าชื่นชอบเรื่องหรือตอนใด และจะมีการประมวลเพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นจะทรงเลือกตอนจากข้อมูลแบบสอบถามด้วยความสนพระราชหฤทัย เนื่องจากพระองค์ทรงทราบตอนของรามเกียรติ์ตลอดทั้งเรื่อง โดยในปี ๒๕๕๗ ทรงเลือกโขน ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ตามบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ให้นำมาจัดแสดง”

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีรับสั่งว่าพอพระทัยมาก และขอชื่นชมว่าโขนพระราชทานนั้นได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นในทุกๆ ปี พร้อมทั้งมีพระราชประสงค์ให้การแสดงโขนได้มีการสืบทอดรุ่นต่อรุ่น ไม่เพียงนักแสดงรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นตัวเอกเท่านั้น แต่รวมถึงทุกๆ คน อาทิ นักพากย์ที่ได้ปรมาจารย์ชั้นครูมาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ พร้อมทั้งสมควรให้บันทึกภาพความงดงามของเครื่องแต่งกายและพัสตราภรณ์ของนักแสดงให้สามารถมองเห็นรายละเอียดที่ชัดเจนเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ชมฝีมืออันวิจิตรของชาติไทยต่อไป

ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานคณะกรรมการอำนวยการและผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดการแสดงทุกปีที่ผ่านมาเราได้รับการตอบรับที่ดีมากขึ้นเป็นลำดับ จนทุกวันนี้เรียกได้ว่าเรามีแฟนโขนตัวจริง ที่ติดตามกันอย่างเหนียวแน่นมาตลอด และในปีนี้รวมทั้งปีต่อๆ ไป เราจำเป็นต้องทำให้ดียิ่งขึ้นไปทุกปี ต้องขอขอบคุณผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน ทีมงานทุกท่าน ทุกฝ่าย นักแสดง รวมแล้วกว่า ๘๐๐ ชีวิต ที่ช่วยให้เกิดการแสดงที่สมบูรณ์ที่สุดออกมา สำหรับในปีนี้ เราตั้งใจสร้างสรรค์โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ครั้งนี้ โดยให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมผ่านการออดิชั่น จนได้นักแสดงเอกรุ่นใหม่ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขนประจำปี ๒๕๕๗ ตัวละครตัวละ ๕ คน ได้แก่ พระ (โขน), พระ (ละคร), นาง, ยักษ์ และ ลิง รวม ๒๕ คน ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่มีเยาวชนไทยให้ความสนใจมากมายจากผู้สมัคร ๗๙๕ คน”

ด้าน นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดงโขน กล่าวว่า “คณะกรรมการที่จัดการแสดงครั้งนี้ ทุ่มเทกำลังกายและกำลังความคิดในการสรรค์สร้างเพื่อถวายพระเกียรติองค์อัคราภิรักษ์ศิลปินที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ถวายพระราชสมัญญาแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นที่เคารพสูงสุดของปวงชนชาวไทย โดยการแสดงในปีนี้ประกอบไปด้วย ฉากอันวิจิตรตระการตาทั้งหมด ๕ ฉากใหญ่สำคัญที่ใช้เทคนิคการแสดงสมัยใหม่เข้าผสมผสานเพื่อให้การแสดงตื่นเต้นเร้าใจยิ่งขึ้น ได้แก่ ฉากที่ ๑ ท้องพระโรงกรุงลงกา, ฉากที่ ๒ พลับพลาพระรามเชิงเขามรกต, ฉากที่ ๓ โพรงไม้โรทัน, ฉากที่ ๔ สนามรบ และฉากที่ ๕ สงคราม ซึ่งในปีนี้เรายังคงมุ่งเน้นให้ผู้ชมได้เต็มอิ่มจากการแสดงดังเช่นทุกปี เพื่อสานต่อเจตนาให้นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยได้อยู่บนเวทีได้อย่างภาคภูมิและทัดเทียมสากล”

ในขณะที่ นายสุดสาคร ชายแสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก กล่าวถึงความพิเศษของฉากที่ผู้ชมจะได้เห็นในการแสดงครั้งนี้ว่า “สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ดำเนินตามบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ เป็นหลัก โดยปรับให้เหมาะสมกับการแสดงในบางจุด ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้ฉากพญาครุฑยุดนาค สามารถขยับได้และดูสมจริงประหนึ่งมีชีวิต รวมไปถึง ฉากตรวจพลของวิรุญมุข ที่เปิดฉากกำแพงเมืองอันยิ่งใหญ่ ตระการตา ตามฐานานุศักดิ์ของพระราชนัดดา โดยฉากนี้เป็นการแสดงการรบบนหลังม้า การกำบังกาย เข้าไล่ทำร้ายพวกพลลิง โดยกระบวนรบ กระบวนตรวจพล ล้วนเป็นกระบวนท่ารำชั้นครูที่สืบทอดมาจากกรมมหรสพของพระบาทสมเด็จพระมุงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้น ฉากรำเบิกโรงการแสดง ชุด ระบำนารายณ์เจ็ดปาง ซึ่งเป็นบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงษ์ ที่ปกติแล้วจะหาชมได้ยาก เพราะไว้ใช้แสดงในโอกาสสำคัญเท่านั้น โดยในปีนี้ฉากนี้ได้ใช้การสร้างประติมากรรมลอยตัวรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งมีความสูงรวมกว่า ๗ เมตร มาเป็นประธานในฉากนี้”

“สำหรับฉากไฮไลต์ในปีนี้ คือ ฉากโพรงไม้โรทัน คำว่า ‘โรทัน’ เป็นชื่อของต้นไม้ใหญ่ที่อยู่บนเขาอากาศ อันเป็นที่ซึ่งพวกนาคและสัตว์มีพิษ เช่น แตนต่อ มาคายพิษลงในบ่อหน้าต้นไม้โรทัน ในฉากนี้เอง อินทรชิต ได้เข้าไปประกอบพิธีชุบศรในโพรงไม้ ฝูงนาคได้ออกมาคายพิษลงในบ่อ แต่พญาชามพูวราชซึ่งแปลงกายเป็นพญาหมี ได้เข้าไปทำลายพิธีจนอินทรชิตไม่สามารถประกอบพิธีชุบศรนาคบาศได้สำเร็จ ฉากนี้ ผู้ชมจะได้เห็นความลึกลับและความน่ากลัวของป่า” นายสุดสาคร กล่าวเพิ่มเติม

นายวีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ กล่าวว่า “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวณีย์ ให้มีการฟื้นฟูการทอผ้ายกของนครศรีธรรมราช ที่มีการทอสืบทอดกันมาแต่โบราณ แต่ได้สูญหายไปกว่า ๑๐๐ ปี โดยได้พัฒนาฝีมือให้กับสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง อำเภอเชียรใหญ่ และศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้มีการจัดทำผ้าทอขึ้นมาใหม่ โดยทอจากสมาชิกรวมกว่า ๔๐ ชีวิต จนได้ผ้ายกทองจำนวนมากถึง ๔๓ ชิ้น มาใช้สำหรับการแสดงในครั้งนี้ โดยเป็นผ้าที่งดงามมาก มีการจัดองค์ประกอบของผ้าตามแบบราชสำนัก ซึ่งสมาชิกของศูนย์ฯ มีการพัฒนาฝีมือและสามารถทำออกมาได้วิจิตร บรรจง จนในปีนี้เราได้นำมาใช้เป็นผ้านุ่งของตัวพญานาค จำนวน ๑๒ ชุด โดยผ้าที่ใช้เป็นลายผ้าที่มีกรวยเชิง ๓-๔ ชั้น และมีสังเวียนรอบ นับเป็นการช่วยพัฒนาฝีมือให้กับสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพฯ ทดแทนการสั่งผ้าเข้ามาจากอินเดีย เพราะแต่ละคนสามารถทอออกมาได้งดงามพัฒนาขึ้นมากจากในช่วงปีแรกๆ”

อนึ่ง การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๗ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ได้เริ่มทำการแสดงแล้ว โดยรอบประชาชน มีจำนวน ๓๔ รอบ รอบนักเรียน จำนวน ๑๖ รอบ รวม ๕๐ รอบ ระหว่างวันที่ ๗ พฤศจิกายน – ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชม ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา ๔๒๐, ๖๒o, ๘๒o, ๑,๐๒๐ และ ๑,๕๒๐ บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา ๑๒o บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.๐๒-๒๖๒-๓๔๕๖ หรือทางเว็ปไซต์www.khonperformance.com

image

image

image

image

 

 

Related posts: