Union Grands Crus Bordeaux Grand Tasting, Vinexpo Singapore
หนี่งในไฮไลท์ของ วินเอ็กซ์โป สิงคโปร์ ที่ไม่มีใครยอมพลาด คือ grand tasting ของ Union Grands Crus Bordeaux ตามชื่อเลย งานชิมไวน์ระดับ กรองด์ ครู ของบอร์โดซ์ แคว้นผลิตไวน์ชื่อเสียงระดับโลกของฝรั่งเศส โดยครั้งนี้มีชาโต้กว่า 70 ร่วมแสดง เซียนไวน์ไทยที่ปะหน้าคุยฟุ้งว่าชิมครบหมดทุกตัว งานนี้เลยสู้ตาย แค่ไวน์ 70 ตัว plus เอง ไม่ยอมน้อยหน้าใคร
เดินเข้างานมีงงเล็กน้อย ได้ยินคนพูดฝรั่งเศสเต็มไปหมด หลงนึกว่าอยู่ฝรั่งเศส ก็ไวน์เมคเกอร์จากบอร์โดซ์ บินมาพรีเซนต์ ไวน์ด้วยตัวเอง โก้เก๋แบบเฟรนช์ แล้วมาเจอคนวงการไวน์ไทยเยอะมาก เผลอพูดไทยไปกับใครหลายคน เกือบลืมไปเลยว่างานนี้จัดอยู่ที่ มารีนาเบย์แซนด์ สิงคโปร์
เมืองบอร์โดซ์มีแม่น้ำไหลผ่านคั่นกลาง เหมือนกรุงธน กรุงเทพบ้านเรา จึงแบ่งคร่าว ๆ เป็นฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำ
ฝั่งซ้ายตอนบนคือ Medoc ตำบลผลิตไวน์ดัง appellation ชื่อเสียงระดับโลกของเขตนี้ ก็เช่น Saint Julien, Margaux, Pauillac, Saint Estephe โดยมีการจัดอันดับ ทำ classification ระดับ Grand cru ออกคำสั่งโดยพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ที่มีมานับแต่ปี 1855 เรียกกันทั่วไปว่า classification 1855 มี 5 อันดับ 1 2 3 4 และ 5 ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้มาจนทุกวันนี้ (วงเล็บนิดนึง มีเปลี่ยนแปลงแค่อันเดียว คือ Château Mouton Rothschild เลื่อนอันดับจาก 2nd growth มาเป็น 1st growth อันดับหนึ่ง รวมเป็น 5 อรหันต์อันดับหนึ่งของบอร์โดซ์ ในสมัยประธานาธิบดี Jacques Chirac ไม่ว่ากัน เพราะหากพูดกันอย่างไม่ลำเอียง โดยคุณภาพ ไวน์ Mouton Rothschild ก็มี merit สมควรติดอันดับหนึ่ง)
ยุคศตวรรษที่ 19 บอร์โดซ์รุ่งเรืองมากค้าขายไวน์กับอังกฤษโดยตรง บางคนก็ว่าการจัดอันดับ classification 1855 ขึ้นอยู่กับ terroir บ้างก็ว่าขึ้นอยู่กับราคาไวน์ที่ค้าขายกับลอนดอน ไม่แน่ใจเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ คือ grand cru classification เป็น marketing ชั้นเลิศ ทำให้ไวน์บอร์โดซ์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และทำให้เศรษฐีคนมีเงิน มีข้อมูลในการคัดเลือก “the best wine” ซื้อไวน์ grand cru ไป เปิดขวดเลี้ยงใคร ก็ภาคภูมิใจมีแต่คนปลื้มชื่นชม
ฝั่งซ้ายด้านใต้ลงมา เป็นเขต Pessac-Léognan และ Graves รวมไปถึงด้านใต้สุดเขตไวน์หวาน Sauternes & Barsac ผลิตไวน์หวาน sweet Bordeaux wine ที่เลื่องชื่อที่สุดของโลก ไวน์หวานนี้จัดอยู่ใน classification 1855 เช่นกัน ในงาน กว่าจะเดินไปชิมถึงไวน์หวาน ก็สุดท้ายเกือบปิดงาน มีเหลือให้ชิมแค่ 3 ตัว ฟินสุด ๆ
ฝั่งขวาเป็นไวน์จาก Saint Emilion เมืองมรดกโลก ไม่รวมอยู่ใน classification1855 การจัดอันดับ grand cru classification เพิ่งเริ่ม เมื่อปี 1955 และมีการจัดอันดับใหม่ทุก ๆ 10 ปี มีเข้ามีออก เปลี่ยนแปลงได้
รวมไปถึงไวน์จากเขต Pomerol ไม่มีการจัดอันดับ แต่เป็นไวน์เลื่องชื่อได้รับการยอมรับทั่วโลก
ประเพณีปฏิบัติการขายไวน์ของ บอร์โดซ์ โดยเฉพาะไวน์ดังไวน์ grand crus คือขายผ่านคนกลาง ที่เรียกว่า Negociants (เนโกซิออง) ซึ่งจะนำไวน์ไปขายต่อให้กับ wholesalers, importers และผู้จำหน่ายไวน์ทั่วโลก ถือเป็นการช่วยเปิดตลาดใหม่ ๆ ให้ไวน์บอร์โดซ์ โดยเจ้าของชาโต้ไม่ต้องเหนื่อยทำเอง
ส่วนการขายไวน์จะทำกันในช่วงที่เรียกว่า Vente en primeur (วองต์ ออง พริเมอร์) ที่เรียกว่า Wine Futures ประมาณช่วงฤดูใบไม้ผลิ การบ่มไวน์บอร์โดซ์ โดยประมาณจะอยู่ที่ 14-18 เดือน หลังเก็บเกี่ยว ปลายสิงหา กันยา ตุลา เมื่อถึง vente en primeur ไวน์จึงยังอยู่ในถัง ไม่เสร็จสิ้นกระบวนการบ่มดี ถึงได้เรียกว่า Wine Futures
เป็นข้อข้องใจมานานว่า ในเมื่อชาโต้ขายไวน์หมดตั้งแต่ช่วง en primeur ทำไม ถึงต้องมาจัด grand crus tasting อีก
มาคราวนี้มีคำตอบ หนึ่งในชาโต้เล่าว่า เพราะช่วง en primeur ไวน์ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ดี จึงต้องจัดงาน grand cru tasting ให้ได้ชิมไวน์ที่บรรจุขวดเรียบร้อยแล้ว เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการในทุกระดับได้ชิมไวน์ในขั้นตอนสุดท้าย ถือเป็นการสนับสนุน negociants ให้ขายไวน์ต่อได้อีกทีหนึ่ง เรียกว่าสนับสนุนซึ่งกันและกัน ฟังแล้วเข้าท่าดี
ทิ้งท้ายนิดนึงเกี่ยวกับคำว่า Château (ชาโต้) เดินไปทางไหนก็ได้ยินคำว่าชาโต้ หรูหราไปหมด จริง ๆ แล้ว ชาโต้ในบอร์โดซ์ ไม่ได้มีความหมายถึงปราสาทหรือวัง ดังความหมายทั่วไป แต่เมื่อพูดถึงชาโต้โน้นชาโต้นี้ จะหมายถึงพื้นที่มีการปลูกและผลิตไวน์ โดยอาจมีแค่ตัวตึกหรือบ้าน ไม่ได้มีวังหรือปราสาทจริง ๆ แต่อย่างใด ใครที่มีโอกาสนั่งรถชมวิวทิวทัศน์ไร่ไวน์บอร์โดซ์ จะเห็นคฤหาสน์สไตล์วังสวย ๆ เต็มไปหมด ส่วนใหญ่เค้าว่าก็บรรดา negociants นี่แหละที่มาสร้างบ้านพักเอาไว้ในยุคก่อน
Saint-Julien
Margaux
Pauillac
Saint-Estèphe
Pomerol
Pessac-Léognan
Saint-Emilion
Sauternes & Barsac