ข้ามน้ำข้ามทะเลบินมาไกลถึงซิซิลี วันแรกของทริปแรกในชีวิตบนเกาะอันสวยงามในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่โด่งดังทางตอนใต้ของอิตาลีครั้งนี้ โปรแกรมยาวเหยียด ไม่ใช่แค่เช้าจรดค่ำ หากล่วงเลยเวลาอาทิตย์ลับไปอีกยาวไกล
จุดหมายปลายทางหลักและเป็นแห่งแรกคือ คือไร่ไวน์ในบรรยากาศสวยงาม Baglio Del Cristo Di Campobello ตั้งอยู่ในอำเภอ Campobello ของแคว้นอากริเจนโต (Agrigento) แหล่งโบราณคดีที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมรดกโลก เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าหุบเขาแห่งวัดกรีก (Valley of the Temples) อันเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญทางชายฝั่งทะเลตอนใต้
ก่อนจะเริ่มออกผจญภัย บินตรงจากเมือง Bologna มาตั้งท่านอนคอยที่เมือง Catania (คาตาเนีย หรือ คาตานญ่า) ก่อนล่วงหน้าหนึ่งคืน ด้วยรู้มาว่าการคมนาคมที่นี่ไม่ค่อยสะดวกนัก จึงต้องวางแผนล่วงหน้ารอบคอบหน่อย เช้าขึ้นมาได้ไม่เสียเวลา จับรถตรงไปยังจุดนัดหมายได้เลย
วันนี้เตรียมพร้อมแต่เช้า ออกเดินทางจากโรงแรมกลับไปยังสนามบิน Catania ที่อยู่ไม่ไกลเพื่อไปขึ้นรถบัส มุ่งหน้าไปยังเมือง Canicatti ที่ ณ ขณะนั้นยัง no idea ว่ามันอยู่ตรงไหนของโลก นั่งรถไปเกือบสองชั่วโมง ถึงแล้ว ค่อยยังชั่ว Carmelo Bonetta เจ้าของไร่ Cristo Di Campobello และ Carmen ผู้ช่วยอิตาเลียนสาวสวยมาคอยรับตามนัดหมาย ไม่ต้องถามไถ่แม้ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน เพราะเป็นคนเอเชียคนเดียวในรถบัสที่มีแต่คนท้องถิ่นโดยสารมา
จากนั้น ขับรถกันต่อ ไปอีกเกือบหนึ่งชั่งโมงจึงถึงอาณาจักร คริสโต ดิ แคมโพเบลโลบนเนื้อที่ 50 เฮคต้าร์ Carmelo พาไปหยุดสูดอากาศชมส่วนที่เป็นไร่ไวน์ก่อน พร้อมเคารพรูปปั้นพระเยซูเก่าแก่กว่า 200 ปี ที่ตำนานเล่าว่า มีชาวบ้านมาขอพร แล้วได้รับพรนั้นสมดังที่ปรารถนา รูปปั้นจึงเป็นที่เคารพบูชาของคนท้องถิ่นนับแต่น้ันเป็นต้นมา แม้แต่ชื่อไร่ Cristo Di Campobello ครอบครัวของ Carmelo ก็ตั้งข้ึนด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระเยซู
จากไร่ นั่งรถเข้ามายังอาคารที่ทำการ สวยงามในสถาปัตยกรรมแบบซิซิเลียน เสียดายที่ไม่มีเวลาชมรายละเอียด เพราะโปรแกรมวันนี้แน่นขนัด เลือกมาให้ชมกันแค่ภาพบางส่วนแล้วกัน
จากนั้นเป็นรายการ wine tasting หัวใจของทริปที่ไม่มีไม่ได้ มาเยี่ยมไร่ไวน์ทั้งที ก็ต้องทำความรู้จักกับไวน์ ไม่งั้นเสียเที่ยว หลัก ๆ วันนี้เจ้าของไร่เตรียมไว้ให้ด้วยกัน 6 ตัว ตื่นเต้นมากเลย เพราะเป็นครั้งแรกที่จะได้ชิมไวน์ซิซิเลียนในแบบจัดเต็ม
แล้วเวลาที่รอคอยก็มาถึง เริ่มกันด้วยไวน์ขาว Adenzia ชื่อในภาษาท้องถิ่นซิซิเลียนที่ แปลว่า “to pay attention” อันสื่อความหมายถึงการเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนของการผลิตเริ่มตั้งแต่ผืนดินมาสู่การบรรจุขวด
“อาเดนเซีย” ตัวนี้เป็นวินเทจ 2014 อันเป็นปีล่าสุด ทำจากองุ่น Grillo ผสาน Insolia สองสายพันธ์ท้องถิ่นของซิซิลีโดยแท้ ตัวแรกให้ soft aroma ส่วนตัวหลังให้กลิ่นหอมพรรณดอกไม้ ผสานกันลงตัวมาก ๆ สีออกเหลืองอ่อน ๆ ใสแจ๋ว clarity ดีมาก ชวนให้ลิ้มชิมลอง ด้านกลิ่นหอมสดชื่น มีรสไซทรัสของท้องถิ่น และผลไม้ทั้งพีชสีขาวและสับปะรด acidity ยอดเยี่ยม จบค่อนข้างยาวสวยงามทีเดียว แค่ตัวแรกก็หลงรักไวน์ของที่นี่เข้าไปแล้ว
ตัวที่สอง ยังอยู่กับไวน์ขาว Laluci 2014 ทำจากสายพันธ์ Grillo 100% ชื่อ ”ลาลูซี” มีความหมายถึง “the light” รสชาติเข้มกว่าตัวแรก aroma ดีมาก หอมกลิ่นดอกไม้และผลไม้ รสชาติเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น และมี mineral ที่น่าสนใจ
พูดถึง Grillo ให้ความรู้ถึงความเป็นมากันนิดนึงว่า เป็นสายพันธ์องุ่นที่แต่ก่อนซิซิลีจะนำมาผลิต sweet wine เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการนำมาทำเป็น dry wine ด้วยความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีของวิธีการผลิตที่ก้าวหน้าและแตกต่างออกไป จึงทำให้ รักษากลิ่นและคุณภาพที่โดดเด่นของสายพันธ์นี้ไว้ได้ ฟังถึงตรงนี้แล้ว ต้องหยิบ Laluci มาจิบซ้ำอีกที เห็นด้วยเลยว่าดรายไวน์ตัวนี้ทีคุณภาพคับแก้ว
ผ่านไป 2 ตัว สุดชื่นมื่น ยิ่งชิมยิ่งดี ต้องยอมรับว่าเซอร์ไพรซ์มากกับ acidity อันเป็นแคเร็คเตอร์เด่นชัดที่ส่งให้ไวน์ไร่นี้โดดเด่นด้วยความสดชื่น
Carmelo เล่าว่าที่ Cristo Di Campobello ผลิตไวน์ที่มีคุณภาพดีเช่นนี้ ได้ เป็นเพราะลักษณะและส่วนประกอบของดินที่ทำให้ปลูกองุ่นที่สามารถผลิตไวน์ที่มีทั้ง high acidity และมิเนอรัลที่เยี่ยม
องค์ประกอบอื่นที่สำคัญ คือภูมิอากาศ ที่ซิซิลีในหน้าร้อนก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยว กลางวันอุณหภูมิจะสูง ส่วนกลางคืนอากาศจะเย็นลง ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันกับกลางคืนเอื้อให้กับการปลูกไวน์ได้เป็นอย่างดี เมื่อบวกกับความชื้นหรือ humidity ที่ไม่สูงนักต่างจากทางตอนเหนือของอิตาลี แถมยังมีลมทะเลพัดผ่านคลายความอบอ้าว จึงถือเป็นความโชคดี เพราะ climate แบบนี้ส่งผลให้ผลิตไวน์ได้ดี
ชิมกันต่อตัวที่สาม เป็นไวน์ขาวตัวสุดท้าย มีชื่อว่า Laudari ปี 2013 “โล ดารี” ในภาษาท้องถิ่นแปลว่า “to pray” เห็นตัวนี้แล้วแปลกใจ เพราะทำจากสายพันธ์ Chardonnay 100% เต็ม ที่ว่าแปลกใจเพราะองุ่นนี้ไม่ได้เป็นสายพันธ์อิตาลี และไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะมาเติบใหญ่ปลูกได้ดีบนเกาะแห่งนี้
ไวน์เมคเกอร์ ไขข้อข้องใจว่า ชาร์ดอนเน่ย์ เป็นสายพันธ์ อินเตอร์ ที่ปรับตัวได้ดีในภูมิอากาศของซิซิลี ทั้งยังมีความสำคัญเพราะปลูกกันมาก จนเป็นหนึ่งในเป็นสายพันธ์ที่อนุญาตให้ใช้ได้ในไวน์ DOC ( Sicilia Denominazione Di Origine Controllata) ซึ่งมีข้อจำกัดมากมาย
ชาร์ดอนเน่ย์แม้เป็นพันธ์องุ่นเขียวที่ปลูกได้ทั่วไป แต่เมื่อนำไปปลูกที่ใด จะ ดึงดูดและซึมซับแคเร็คเตอร์เฉพาะตัวของ terroir ที่นั่นเข้ามาด้วย ชิม Laudari ตัวนี้แล้ว เข้าใจลึกซึ้งถึงความเป็น Cristo Di Campobello เลย
ไวน์ขวดนี้ ผ่านการบ่มถังโอ๊ค รสชาติมีทั้งความซับซ้อน อร่อยด้วยความมันหรือออยลี่ที่ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า gras มีรสพลัม มะม่วง ผลไม้แห้ง กลิ่นหอมดอกไม้ เป็นชาร์ดอนเนย์เฉพาะตัวที่ ไม่เหมือนใคร ครบถ้วนลงตัวทั้งกลิ่น รสชาติ ความสดชื่น และมิเนอรัล โชคดีจริง ๆ ที่ได้มีโอกาสมารู้จักกับไวน์ตัวนี้ ชิมแล้วเลิฟที่สุดเลย
จบจากขาว ต่อกันด้วยไวน์แดง ตัวแรก เป็น Adenzia 2012 ชื่อเดียวกันกับไวน์ขาวที่ได้ชิมไปเป็นตัวแรก หากตัวนี้ทำจากสายพันธ์ Nero d’ Avola องุ่นแดงที่ยกย่องให้เป็นสายพันธ์หลักของซิซิลี นำมาผสานกับองุ่นพันธ์ Syrah อย่างละครึ่ง ๆ 50% เท่า ๆ กัน ผ่านการบ่มถังโอ๊คนาน 12 เดือน หอมกลิ่นเชอรี่ ผลไม้ป่า ซ่อนด้วยกลิ่นวานิลลา แทนนินกลมกล่อม และแน่นอนตามสไตล์ของไวน์ไร่นี้ เลิศรสด้วย acidity ที่โดดเด่นไม่เว้นแม้แต่ในไวน์แดง
อันดับสองให้ชื่อว่า Lusira ปี 2011 ทำจากสายพันธ์ Syrah 100% Carmelo บอกว่าไวน์ตัวนี้เป็นลักษณะเฉพาะของ Syrah ในแถบนี้ ผ่านการบ่มในเฟรนช์โอ๊คนาน 14 เดือน และบ่มในขวดต่ออีก 2 ปี เท่ากับว่าต้องใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าจะนำออกมาจำหน่ายให้ชิมกันได้ในตลาด
ต้องถามไถ่กันอีกครั้ง เรื่องพันธ์องุ่น เพราะแม้ซีราจะไม่ใช่พันธ์อิตาเลียน แต่ปลูกได้ดีที่นี่จนเหมือนกับเป็นบ้านของตัวเอง เข้าใจเลยว่าทำไมฉลากขวดยังระบุว่าเป็น Sicilia Indicazione Geografica Protetta
ไวน์ตัวนี้สีแดงเข้ม แค่ดมกลิ่นก็รับรู้ได้ถึงความ elegant รสชาติซ่อนความเผ็ดในแบบฉบับของซีรา แต้มเข้มข้นด้วยรสแยมผลไม้แดง แล้วจบด้วยกลิ่นวานิลลาที่พิเศษสุด วานิลลาตัวนี้ช่วยโอบอุ้มแทนนินให้นุ่มนวล จิบเข้าปากแล้วต้องร้องว่า โอ้โห เพราะเป็นแทนนินสุดกลมกล่อม เริดที่สุดแบบที่ไม่เคยได้ชิมที่ไหนมาก่อน ใครไม่เชื่อต้องลองไปหาชิมดู
ตัวสุดท้าย เป็น Lu Patri 2011 ชื่อที่แปลว่า “the father” ทำจากสายพันธ์ Nero d’Avola ที่เป็นความภาคภูมิใจของซิซิลี 100 % เต็ม
ก่อนหน้านี้ชิม Nero d’Avola มาก็หลายครั้ง แต่ไม่เคยโดนใจ เพราะคนละชั้นกับ ”ลู ปาตรี” ไวน์ตัวนี้บ่มเฟรนช์โอ๊คนาน 14 เดือน ตามด้วยการบ่มในขวดอีกอย่างต่ำ 12 เดือน สีออกแดงเข้ม หอมกลิ่นนำ้ส้มสายชูบัลซามิก บวกด้วยกลิ่นสมุนไพรหอม และผลเบอร์รี่อย่างแบลคเบอร์รี่และเชอรี่ รสชาติเต็ม ๆ ทั้งหนักแน่น ซับซ้อน แทนนิน round และ elegant ยอดเยี่ยมด้วย acidity ยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีของ king of the grapes ของซิซิลี และสมเป็นตัวปิดท้าย wine tasting ในวันนี้
ใครจะว่า ไวน์ดี ขึ้นอยู่กับองุ่นพันธ์ดีและดินดี ก็สุดแล้วแต่ เสร็จสุดท้ายไวน์จะออกมาสมบูรณ์แบบไม่ได้ หากขาดประสบการณ์ ความรู้ การเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด และที่สำคัญ passion หรือหัวใจที่ใส่ไว้ในทุกหยดของไวน์ อย่างเช่นที่ Cristo di Campobello
จบจาก wine tasting มาต่อกันด้วยมื้อกลางวัน เสริฟเป็นบุฟเฟต์อาหารท้องถิ่นซิซิเลียนล้วน อย่างเช่น พาสต้าอบที่เรียกว่า “Ziti” สลัดมะเขือม่วง “Caponata” ขนมปังหรือแป้งทอดกรอบ “Panella” ข้าวปั้นทอด “Arancini” จาระไนไม่หมดเพราะหลากหลาย หิวด้วยอร่อยด้วย เพราะเวลาล่วงเลยมาก็มาก เลยชิมมันหมดทุกอย่าง พรั่งพร้อมด้วยไวน์ขาวและไวน์แดงทุกตัวที่ได้ชิมมาก่อนหน้านี้ ผิดแต่ว่าช่วงนี้ให้ลิ้มรสแกล้มกับอาหาร แถมด้วยไวน์โรเซ่ให้จิบเรียกน้ำย่อยก่อนอาหารเพิ่มอีกหนึ่งตัว
ด้านบรรยากาศนั้นวิเศษสุด ตั้งโต๊ะกันบริเวณเทอเรส สูดอากาศ outdoor ของฤดูร้อนยามบ่าย มองออกไปเป็นผืนดิน ต้นไม้ และท้องไร่ ท่ามกลางแดดจ้า อากาศดี และฟ้าใส อวดวิวทิวทัศน์ที่ตอกย้ำว่านี่แหละซิซิลีที่ไม่เหมือนที่ไหน ต้องมาสัมผัสเองจึงจะเข้าใจ
เสร็จจากมื้อกลางวัน เดินหน้าทำงานกันต่อ คราวนี้ไปชมส่วนที่เป็น winery หรือส่วนที่เป็นโรงผลิตไวน์ สวย สะอาด ทันสมัย ชมถังทั้งในแบบไม้และ stainless steel ฟังอธิบายวิธีการหมักการบ่มไวน์ การบรรจุขวด รวมไปถึงการขนส่ง และห้องทดลอง
จากน้ันออกมาชื่นชมธรรมชาติความงามสุดบรรยายของ Cristo di Campobello ต่ออีกหน่อย เก็บภาพมาเท่าที่เวลาจะอำนวย ก่อนจะจำใจอำลาจาก เสียดายจัง ไม่รู้ว่าทำไมเวลาจึงผ่านไปเร็วนัก
จบภารกิจจากไร่ไวน์ Carmelo พาไปเที่ยวต่อ โปรแกรมอันดับถัดไปคือแหล่งโบราณคดีมรดกโลก อากริเจนโต (Agrigento) ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 50 กิโลเมตร
กว่าจะไปถึง Valley of the Temples ก็ค่อนข้างเย็นแล้วแม้ว่าแดดยังจ้า มีเวลาแค่หนึ่งชั่วโมงก่อนประตูจะปิด มัคคุเทศน์ที่รออยู่นำเที่ยวชมพร้อมอธิบายว่า หุบเขาแห่งวัดกรีกแห่งนี้ เป็นหนึ่งในห้าสถานที่ของซิซิลีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก้ โดยที่อากริเจนโตนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ปี 1997 ต้องขอบคุณ Carmelo ที่พามาเที่ยวที่นี่ด้วยความน่ารัก คงเสียดายแย่ถ้ามาถึงนี่แล้วไม่ได้มาดู เวลามีน้อย เก็บภาพมาฝากกันแบบพอหอมปากหอมคอ
ต่อจากนี้ เดินทางไปยังที่พักที่ไม่ได้อยู่ใกล้ ชมวิวทิวทัศน์หมู่บ้านเล็ก ๆและชายฝั่งทะเลไปตลอด เพราะโรงแรมเป็นรีสอร์ทริมทะเล มีเวลาแค่เอากระเป๋ามาเก็บ แล้วขับรถกลับออกมาต่อมื้อค่ำในเมือง Licata ที่อยู่ในแคว้นอากริเจนโตเช่นกัน
ร้านอาหารที่จองไว้ชื่อ L’Oste e il Sacrestano อยู่ในเขตเมืองเก่าของ Licata จอดรถแล้วเดินผ่านถนนเดินเท้าแคบ ๆ ในบรรยากาศที่เหมือนกับว่ากำลังเดินอยู่ในหนังอิตาเลียนคลาสสิก ไฟสลัว มืด ๆ ทึม ๆ ตัวบ้านเป็นอาคารสองช้ันเก่าแก่ คนละอารมณ์กับไร่ไวน์ วัดกรีก และโรงแรมทันสมัย หากพอก้าวเข้าไปในร้านก็กลายเป็นความชื่นมื่นอีกแบบ ร้านอาหารขนาดเล็กตกแต่งเรียบง่ายทว่าน่ารัก เชฟอัธยาศัยดีเป็นกันเอง ด้านอาหารนั้นสุดยอด เป็นอีกหนึ่งเซอร์ไพรซ์ของวันนี้ อร่อยที่สุดเปรียบเทียบกับหลายๆ ร้านที่ได้ไปชิมมาในซิซิลี ส่วนรายละเอียดค่อยเล่าให้ฟังทีหลังแยกออกไปต่างหาก
กว่าจะเสร็จมื้อนี้ เวลาล่วงเลยหลังเที่ยงคืนไปเยอะเลย กลับถึงโรงแรมภาพข้างบนนี้ไม่ได้เห็นหรอก ต้องรอตื่นขึ้นมาอีกวันถึงได้มีโอกาสไปเดินชมความงามและสูดบรรยากาศท้องทะเล ลงภาพให้ดูกันเล่น ๆ ทั้งชายหาดส่วนตัว และปราสาทของใครไม่รู้ที่มาตั้งอยู่ด้านข้าง มองไปข้างหน้าเห็นแต่ท้องฟ้าใสไร้เมฆ ตัดขอบกับท้องทะเลในสีฟ้าใสแจ๋วอันเลื่องชื่อของเมดิเตอร์เรเนียน เป็นภาพสวยดังต้องมนต์ ได้แต่สูดลมหายใจลึก ๆ ให้แน่ใจว่าไม่ใช่ความฝัน สุขใจจนบอกกับตัวเองว่าหากมีโอกาสต้องขอ กลับไปเยือนเกาะแห่งนี้อีกสักครั้ง
BAGLIO DEL CRISTO DI CAMPOBELLO Contrada Favarotta S.S. 123 Km 19 + 200 92023 Campobello di Licata (AG) Tel. +39 0922 877709 / +39 328 6799513