Women With Wine: Symphony of Taste Wine Dinner with Dorli Muhr of Muhr-van der Niepoort
งานดินเนอร์คนกันเองขนาดไม่ต้องใหญ่ หากเยี่ยมด้วยคุณภาพคับแก้ว เมื่อสามหญิงเก่งวงการอาหารและไวน์มารวมตัวกัน เบญจวรรณ วิสุทธิ์สัตย์ แห่ง Fin – Fabulous is Needed จับมือกับเชฟโบ ดวงพร ทรงวิศวะ จัดงานไวน์ดินเนอร์ Women With Wine: Symphony of Taste ณ ห้องอาหาร โบ.ลาน - Bo.lan โดยผู้ผลิตไวน์ชื่อดัง ดอร์ลี่ มูร์ (Dorli Muhr) จากไร่ Muhr-van der Niepoort บินมาเปิดขวดไวน์ให้เอง ในงานที่ถือโอกาสจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 150 ปี ออสเตรีย-ไทย ไปด้วยพร้อม ๆ กัน
ค่ำคืนแห่งความพิเศษสุด เชฟโบ และเชฟ Dylan แห่งโบ.ลาน สร้างสรรค์เมนูอาหารไทยระดับหนึ่งดาวมิชลิน ประกอบด้วย 5 คอร์ส รวมทั้งเมนคอร์สหลากหลายจาน ให้แชร์อร่อยชุ่มชื่นใจแบบไทย ๆ จับเข้าคู่กับไวน์ Muhr-van der Niepoort จากเขตไร่ไวน์ คาร์นุนทุม (Carnuntum) ที่คะแนนไวน์แดงติดอันดับหนึ่งในสามของออสเตรีย โดยการจัดอันดับของ Wine Advocate โดย Robert Parker
ดอร์ลี่ มูร์ เล่าว่า คาร์นุนทุม (Carnuntum) เป็นภาษาโรมัน แต่เดิมพื้นที่แถบนี้เคยเป็นที่ตั้งแคมป์ฤดูหนาวของทหารโรมันในช่วงศตวรรษที่ 8 ทำให้มีการพัฒนาเป็นเมืองเจริญรุ่งเรือง มีประชากรมากถึง 7 หมื่นคน เท่า ๆ กับลอนดอนและปารีสในยุคนั้น หลังอาณาจักรโรมันล่มสลาย คาร์นุนทุมก็ค่อยๆ หมดความสำคัญไปด้วย ปัจจุบันมีประชากรไม่ถึง 400 คน
หากร่องรอยความสำคัญทางอารยธรรมโบราณ เช่นโรงละคร ตึกเก่าแก่ และโบราณสถาน ยังคงหลงเหลืออยู่ เขตไร่ไวน์ทางฝั่งตะวันออกของเวียนนานี้จึงยังคงใช้ชื่อว่า คาร์นุนทุม
ก่อนเข้าดินเนอร์มีการเชิญแขกเข้าเยี่ยมในครัว เรียกน้ำย่อยจิ๊บๆ กันด้วย pre amuse bouche ชื่อว่า “พลิกกะเกลือ” ที่เชฟ Dylan กำลังเตรียมอยู่ ปรุงด้วยมะพร้าวทึนทึก ใส่น้ำตาลและเกลือ ทำเป็นผงโรยมากับข้าวหอมมะลิจากสกลนคร วางมาในช้อนให้กินคนละคำ เคียงกับสับปะรดสดรสสดชื่นเสียบไม้ในจานข้าง ๆ เชฟ Dylan เล่าว่าสมัยก่อนเมนูนี้เตรียมในกะทะ ต้องพลิกไปมา จึงเป็นที่มาของชื่อ “พลิกกะเกลือ”
กลับมาที่ห้องอาหาร เรียกน้ำย่อยด้วย pre amuse bouche จานที่สอง เป็น ยาดองแรง 40 ดีกรี เคียงด้วยมะขามและมะม่วงเปรี้ยว ส่วนในขวดคือ น้ำใบเตย จานนี้แนะนำให้ drink, eat และ spray ว่ากันตามน้ันเลย
จากนั้นเข้าเมนูด้วย amuse bouche ตัวจริง เริ่มแรกระเริงรส ๑ “สละกุ้งย่างและห่อวอ ข้าวยำน้ำบูดู ลาบสลิ่มหมู” เสิร์ฟมาในจานเล็ก ๆ 3 อย่าง จากซ้าย กุ้งย่างเคียงกับสละและผักห่อวอของชาวปกาเกอะญอ ตามด้วยข้าวยำและน้ำบูดูปักษ์ใต้ ส่วนขวามือคือลาบวุ้นเส้นโฮมเมด
จับเข้าคู่เป็น 2017 Prellenkirchen Muhr-van der Niepoort, Carnuntum ไวน์ขาว ทำจากสายพันธ์ Grüner Veltliner ที่เลื่องชื่อของออสเตรีย และ Riesling วินเท็จนี้ตั้งใจเก็บเกี่ยวองุ่นเร็วเพื่อให้ได้ freshness และ structure โดยไม่เน้นเปอร์เซ็นต์สูงของแอลกอฮอล์
Amuse Bouche อีกตัว เริ่มแรกระเริงรส ๒ จานนี้ว่าด้วย เมี่ยงกระท้อน ข้าวซอยเน้ือ ห่อนึ่งไก่ ด้านขวาสุดคือเมี่ยงกระท้อน ตรงกลางคือไก่นึ่งเสิร์ฟมาในห่อให้ทานกับข้าวตัง ส่วนซ้ายสุดคือข้าวซอยเนื้อรสแซบโรยหน้าด้วยแป้งกรอบ
ไวน์ตัวที่สอง เป็น 2015 Cuvee Vom Berg, Muhr-van der Niepoort ไวน์แดงทำจาก Blaufränkisch อีกหนึ่งสายพันธ์ที่ขึ้นชื่อของออสเตรีย ตัวนี้ผสานกับ Syrah
ก่อนเข้าเมนคอร์ส เสิร์ฟเป็น จานเดี่ยวจานเดียว คือยำเนื้อโคไทยแบ็คโคราช เคียงด้วยผักหลายอย่าง อาทิ ชะอม หน่อไม้หน้าฝน น้ำยาขิงและพริกเดือยไก่ย่าง เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียวคลุกธัญพืชเมล็ดคล้ายงาที่เรียกว่างาขี้ม้อนห่อมาในใบตอง
ไวน์แพริ่งเป็น 2016 Rot Erde Merlot, Muhr-van der Niepoort แปลกใจนิดนึงเพราะทำด้วยองุ่น Merlot ที่ไม่ใช่สายพันธ์คุ้นเคยของออสเตรีย ขวดนี้มีความเฟรช เข้มข้น และฟุลบอดี้
จากนั้นเข้าเมนคอร์ส 5 อย่าง มี “หลนหมูร้าแบบอุทัยธานี แนมเบือผักสมรมและหมึกทอด” “แกงแดงยอดแค ใส่ขิงอ่อนกับกุ้งอ่าวพังงาและปูปากบารา” “ต้มข่าเป็ดฉะเชิงเทรากับหัวปลีเผา เสริฟกับน้ำพริกเผาย่างส้มจีน” “ยำปลาทะเล ใส่ผักหวานบ้านและดอกไม้หน้าฝนกับน้ำยำเสาวรส” และ “ผัดสะตอหมูกับปลาหมึก” เคียงด้วยจานแนม “ไก่ตะเภาทองย่างน้ำปลาและมะแขว่น” เสิร์ฟพร้อม ข้าวยโสธร กข ๑๐๕ และ ข้าวกล้องงอกศรีษะเกษ เก่ียว ๒๕๖๑
ไวน์แพริ่งหรูหรา ให้ลิ้มลองกัน 3 แบบ ล้วนทำด้วยสายพันธ์ Blaufränkisch ที่ Muhr-van der Niepoort ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญยิ่งนัก ดอร์ลี่ มูร์ เล่าว่า เธอจงใจเลือกไวน์จากดินประมาณเดียวกัน หากแตกต่างกันด้วยอายุขององุ่น
ตัวแรก 2016 Blaufränkisch Samt & Seide, Muhr-van der Niepoort. Samt & Seide แปลว่า กำมะยี่ & ไหม ให้ชื่อนี้เพราะ texture ลุ่มลึกสองแบบของไวน์ นุ่มนวลแบบกำมะหยี่ และงามสง่าอย่างไหม ทำด้วยองุ่นจากไร่อายุประมาณ 15-30 ปี
ตัวที่สอง 2015 Blaufränkisch Liebkind Ried Kobeln, Muhr-van der Niepoort. Liebkind หรือเด็กน้อยที่รัก ทำด้วยองุ่นเก็บเกี่ยวจาก single vineyard ต้นองุ่นถือว่าอายุยังน้อย เป็นไร่ขนาดเล็ก ดูแลยาก และให้ผลผลิตน้อย
สุดท้าย 2015 Blaufränkisch Ried Spitzerberg, Muhr-van der Niepoort จากไร่องุ่นเก่าแก่อายุ 45-65 ปี ขวดนี้ถือว่าเป็น “the most elegant” สุกงอมได้ที่ และสะท้อน terroir ของ Spitzerberg ได้อย่างดีที่สุด
3 ขวด 3 วัย ให้ความรู้สึกที่ต่าง ดอร์ลี่ มูร์ ย้ำว่าสิ่งสำคัญในการชิมไวน์ไม่ใช่แค่ดมกลิ่นหรือลิ้มรสชาติ หากเป็นลิ้นสัมผัส ให้ดูว่าไวน์จบสั้นหรือยาว มีความยิ่งใหญ่ขนาดไหน และงามสง่าหรือไม่
องุ่นจากไร่ไวน์อายุน้อย รสชาติอาจเข้มโดนใจ ชิมแล้วเหมือนจะว้าว หากจบสั้น ส่วนองุ่นจากไร่เก่าแก่ สัมผัสแรกเหมือนจะไม่ค่อยประทับใจ แต่ชิมไปแล้วจะรู้สึกได้ถึงรสสัมผัสยืนยาว และความสง่างาม
จากน้ันจบหวาน ๆ ด้วยของหวานที่ขึ้นชื่อของโบ.ลาน แสร้งว่าเต้าทึงเย็น และ เปียกข้าวเหนียวกำดอ ของ ข้าวหอมดอกฮัง สกลนคร ตามสุดท้ายด้วยขนมหวานอย่างแห้งที่ฝรั่งเรียกว่า Petits Fours